แล้วการหาที่จอดรถจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป…ถ้าคุณได้รู้จักผู้ชายคนนี้
“ปัญหาที่จอดรถไม่พอ” เป็นปัญหาสามัญที่หัวเมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ยิ่งความเจริญของสังคมเมืองแผ่ขยายเข้าไปเท่าไหร่ ก็ยิ่้งซ้ำเติมให้ปัญหาที่ดูเหมือนเสี้ยนบางๆของสังคมยิ่งแผลงฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น ถ้าไม่มีฮีโร่ที่อาสามาบ่มออกก็ไม่มีทางหายเจ็บ
หนึ่งในฮีโร่คนสำคัญที่ประกาศตัวเข้ามาเพื่อขจัดปัญหาที่จอดรถของไทยตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน คืออภิราม สีตกะลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์คทูโก ผู้ให้บริการสมาร์ทปาร์คกิ้ง และผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นปาร์คทูโก (park2go) แอปพลิเคชั่นจองที่จอดรถล่วงหน้าผ่านสมาร์ทโฟนรายแรกของโลก และยังเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่จอดรถครบวงจร
เขา คือ หนึ่งในคนหนุ่มหัวก้าวหน้าที่มีไอเดียบียอนด์ไปมากกว่าคิดนอกกรอบ แต่ใช้วิธีคิดแบบมุมกลับ หรือ Upside Down
ส่วนจะพลิกมุมคิด ตะแคงไอเดียออกมาเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลได้ขนาดไหนนั้น ผู้บริหารหนุ่มพร้อมแล้วที่จะให้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟเพื่อตอบทุกคำถามที่คาใจ
นับหนึ่งจากติดลบ เริ่มธุรกิจจากการมาผิดทาง
อภิรามไม่ได้เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจ ด้วยฝันอันแรงกล้าตั้งแต่เด็กว่าอยากทำธุรกิจ เพราะเขาฝันจะเป็นนักบิน อาชีพสุดเท่และท้าทายเข้ากับไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบในกีฬาแอดเวนเจอร์ โลดโผน ต่อให้คุณพ่อทัดทานว่าให้เรียนสายอื่น แต่เจ้าตัวก็ดึงดันจะเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินให้ได้ สุดท้ายหลังจากคว้าปริญญาตรีจาก RMIT University ออสเตรเลียมาครองได้สำเร็จ ยังเลือกเดินตามแพชชั่นด้วยการสอบเข้าโรงเรียนการบินโดยใช้ทุนตัวเองอีก 1 ปี ทว่า 1 ปีนั้นกลับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาค้นพบว่า เส้นทางที่เคยคิดว่าใช่นี้อาจไม่ใช่อนาคตที่ฝัน
“ผมเลือกเรียนวิศวกรรมการบิน เพราะไม่ได้แค่อยากขับเครื่องบินเป็น แต่อยากมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ด้วย เลยเรียนด้านนี้ก่อนจะไปต่อที่โรงเรียนการบิน เพราะจริงๆแล้วคนที่จะเป็นนักบินเรียนจบปริญญาตรีสาขาไหนก็ได้ แต่พอได้ไปลองสวมบทบาทนักบินจริงๆทำให้ผมพบว่าอาชีพนี้อาจไม่ใช่เส้นทางที่ใช่สำหรับผม หลังจากเรียนจบ ผมเลยเบนเข็มมาทำงานด้านวิศวะในบริษัทรถยนต์แทน”
อภิรามได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานอยู่หลายบริษัท จากที่โลดแล่นในสายเทคนิคตามประสาเด็กวิศวะมาโดยตลอด เขาเริ่มได้ชิมลางเรียนรู้ด้านธุรกิจ และบริหารจัดการ ซึ่งเป็นสายที่ไม่คุ้นเคย แต่ก็จุดประกายให้ผู้บริหารหนุ่มสนใจอยากต่อยอดความรู้ด้านธุรกิจ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA)ที่ศศินทร์
“ระหว่างเรียน ผมรับเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทรถยนต์ไปด้วย จนกระทั่งเรียนจบผมยังทำงานในธุรกิจยานยนต์อยู่อีกสักพัก ก็เริ่มร้อนวิชาอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง ช่วงนั้นประมาณปี 2012 เป็นยุคที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังบูม ผมคิดว่าจะเอาดีทางนี้ พอดีที่บ้านมีที่ดินแถวอารีย์เลยคิดจะมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โดยผมเลือกที่จะตอบโจทย์ Unmet Demand ของลูกค้าในเวลานั้น ด้วยการพัฒนาโครงการที่มีที่จอดรถ 100% สำหรับผู้อยู่อาศัย”
ทว่า หลังจากทำพิมพ์เขียวโครงการออกมาปรากฏว่า ผลลัพธ์ที่ได้ทำเอาผู้บริหารคนเก่งแทบหัวเราะไม่ออก เพราะ โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ฝันห่างไกลกับคำว่าที่อยู่อาศัยลิบลับ เนื่องจากพื้นที่กว่าครึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่จอดรถ ทำให้ราคาต่อตารางเมตรที่ประเมินออกมาสูงลิ่วกว่าราคาขายในตลาดอยู่หลายเท่าตัว
“พอเห็นพิมพ์เขียวแรก ผมรู้แล้วว่า ทำไม Unmet Demand นี้ดีเวลลอปเปอร์เจ้าอื่นเขาถึงไม่ทำ เพราะมันทำไม่ได้จริง หลังจากลองปรับพิมพ์เขียวอยู่ จนได้แผนโครงการที่มีราคาต่อตารางเมตรเทียบเท่าในตลาด ตอนนั้นผมกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะไปต่อในธุรกิจนี้ซึ่งเป็น Red ocean คู่แข่งเยอะ อีกทั้งผมเองก็ไม่ได้มีความชำนาญ หมดจากที่ดินผืนนี้ ก็ยังไม่รู้จะหาที่ดินที่ไหนมาพัฒนาต่อ หรือ จะเลือกไปหาหนทางใหม่ใน Blue Ocean ที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่ง โดยยังคงคอนเซ็ปท์ไอเดียเดิมคือ แก้ปัญหาที่จอดรถในที่อยู่อาศัย สุดท้ายผมตัดสินใจเลือกอย่างหลัง”
หลงทาง เพื่อค้นพบจุดหมายใหม่
หลังจากตกผลึกจนได้โจทย์เดิม แต่เป้าหมายใหม่ อภิราม ซึ่งเติบโตมาในธุรกิจดีเลอร์รถยนต์ คุ้นเคย ทำให้รู้จักกับตัวช่วยที่เรียกว่า เครื่องจอดรถอัตโนมัติพอสมควร เพราะเป็นยูนิตเล็กๆในธุรกิจครอบครัวในการให้บริการติดตั้ง ซ่อมบำรุง และเป็นตัวแทนนำเข้าเครื่องจอดรถอัตโนมัติสำหรับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่มีพื้นที่จำกัดในการจอดรถมานานกว่า 20 ปี บวกกับเขาเองก็เคยประทับใจไอเดียเครื่องจอดรถอัตโนมัติที่นำมาตอบโจทย์ร้านกาแฟตึกแถวในเกาหลีใต้ได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้ตึกแถวธรรมดาๆสามารถรองรับรถของลูกค้าได้เป็นสิบๆคัน เลยกลายเป็นที่มาของไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจอย่างปาร์คพลัส
“ผมมองว่าประโยชน์ของเครื่องจอดรถอัตโนมัติ ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่ตลาดรถยนต์ แต่สามารถตอบโจทย์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความสวยงามและความสะดวกสบาย เราเข้าไปศึกษาเทคโนโลยีเครื่องจอดรถอัตโนมัติจากหลากหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี ฯลฯ เพื่อนำมาติดตั้งให้กับคอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ลานจอดรถ ร้านอาหาร อาคารสำนักงานทั้งขนาดใหญ่-เล็ก และอีกมากมาย ที่ต้องการพื้นที่จอดรถเพิ่มโดยไม่ต้องสร้างที่จอดรถเพิ่ม”
งานนี้เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้บริหารหนุ่ม ยังพาย้อนวันวานไปเจาะเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องจอดรถอัตโนมัติว่า แท้จริงแล้วเครื่องจอดรถอัตโนมัติถือกำเนิดขึ้นในปี 1905 โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เริ่มต้นได้รับความนิยมในยุโรปก่อน เพราะการปฏิวัติเริ่มต้นในสหราชอาณาจักร จากนั้นจึงแพร่ขยายไปยังยุโรปตะวันตก, อเมริกาเหนือ, ญี่ปุ่น จนขยายไปทั่วทั้งโลกในเวลาต่อมา ซึ่งความนิยมของเครื่องจอดรถอัตโนมัติก็ขยายไปตามความเจริญของหัวเมืองใหญ่ต่างๆเช่นเดียวกัน เพราะที่ดินมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จะซื้อที่ดินมาขยายที่จอดรถก็ไม่คุ้ม
แบกไอเดียขายฝัน ยืนหยัดในโลกธุรกิจที่ไม่สวยหวาน
แม้ไอเดียจะฉีกแนว ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม สอบผ่านเช็กลิสต์สูตรสำเร็จในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่อย่างไร้ข้อกังขา แต่การจะขายฝันให้ลูกค้ามายืนอยู่บนความเชื่อเดียวกัน กลับไม่ใช่เรื่องง่าย
อภิราม สวมบทคนขายฝันเพื่อขายไอเดียไปยังกลุ่มที่คิดว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มแรก หรือ Early Adopter อยู่ 2 ปีเต็ม กว่าจะมีลูกค้าที่พร้อมพิสูจน์แพชชั่นและไอเดียที่เขามี
“เครื่องจอดรถอัตโนมัติไม่เหมือนสินค้าชนิดอื่นที่สามารถนำไปให้ลูกค้าสัมผัสหรือทดลองใช้ได้ สิ่งที่เราทำได้คือการขายฝัน ขายประสบการณ์ชวนว้าว ถามว่าท้อมั้ย ก็มีบ้าง แต่เพราะผมเชื่อในสิ่งที่กำลังทำ ถึงจะเคยถูกหัวเราะว่าเรากำลังขายฝัน เคยถูกปิดโปรเจกเตอร์หลังจากพรีเซนต์ไปได้แค่ 5 นาที ผมก็ไม่ท้อ และที่สุดผมก็ทำสำเร็จ”
ปัจจุบันนอกจากผลงานที่แสนภาคภูมิใจ อย่างการติดตั้งเครื่องจอดรถหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Duo Robot Automatic Parking) ที่โครงการคอนโดระดับไฮเอนด์ ไฮด์ (Hyde) สุขุมวิท 11 ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวนวัตกรรมนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ปาร์คพลัสยังได้รับความไว้วางใจจากโครงการขนาดเล็กไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่มากมาย
ติดปีกธุรกิจสู่การเป็นปาร์คกิ้งโซลูชั่นในทุกมิติ
เพราะไม่เพียงมุ่งมั่นจะริเริ่มธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้ แต่ต้องการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆกัน หลังจากบุกเบิกธุรกิจปาร์คพลัสจนเป็นที่ยอมรับ อภิรามยังสยายปีกธุรกิจไปอีกขัั้น ด้วยการลุกขึ้นมาสวมบทสตาร์ทอัพคิกออฟปาร์คทูโก แอปพลิเคชั่นที่มาพร้อมคอนเซ็ปท์สุดเก๋ “จองก่อนจอด” ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่ามีที่จอดแน่นอน ไม่ต้องวนหาที่จอดรถให้เสียเวลา
“สมัยนี้ต่อให้มีสติ๊กเกอร์ต่างๆ แปะอยู่เต็มหน้ารถ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะหาที่จอดรถได้ในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ด้วยบริการจองก่อนจอด ทำให้มั่นใจได้ว่า ค่าจองที่จ่ายไว้จะทำให้มีที่จอดดั่งใจ แถมไม่สร้างภาระให้โลก เพราะการขับรถวนหาที่จอดรถ ก็เป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันไปโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนเจ้าของลานจอดรถก็แฮปปี้ เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าจอง 10-30% ซึ่งเรากล้าพูดว่าเป็นโมเดลของโลก เพราะที่ผ่านมา สมมติลานจอดรถเคยหารายได้จากการจอดได้ 9 ชั่วโมง จาก 12 ชั่วโมง โมเดลอื่นจะพยายามเข้าไปทำให้มีรายได้มากขึ้นจาก 9 ชั่วโมงนั้น แต่เราเลือกจะต่าง ด้วยการไม่ไปยุ่งกับ 9 ชั่วโมงนั้น แต่ขยายเวลาในการทำรายได้ของลานจอดรถ เป็น 12 ชั่วโมงแทน ด้วยบริการจองก่อนจอด เท่ากับว่าต่อให้ช่วงเวลาที่ลานจอดรถว่าง แต่เจ้าของก็ยังมีรายได้จากค่าจอง”
เพื่อฉายภาพการทำงานของแอปพลิเคชั่นให้มากขึ้น อภิรามเสริมถึงจุดเด่นของแอปฯแบบสั้นกระชับ เข้าใจง่ายว่า แอปฯนี้ช่วยให้สามารถค้นหาทำเลที่จอดรถที่ต้องการ สามารถเช็กข้อมูลเบื้องต้นของที่จอดรถได้ เช่น ราคา เวลาเปิดทำการ ที่จอดเต็มหรือไม่ ไปจนถึงจองที่จอดล่วงหน้าได้ผ่านมือถือ ชำระเงินได้หลากหลายช่องทาง
“สิ่งที่ท้าทาย คือ เราต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าค่าจอง กับค่าจอดไม่เหมือนกัน ค่าจองนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าได้ที่จอดแน่นอน ส่วนค่าจอดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของที่จอดรถแต่ละแห่ง”
อนาคตของสมาร์ทปาร์คกิ้ง
สำหรับสถานีต่อไปของปาร์คทูโก อภิรามย้ำว่า ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นแอปฯ แต่ยังมุ่งมั่นที่จะให้บริการครอบคลุมไปถึงนักลงทุน ผู้ที่มีพื้นที่ว่าง หรือ อยากเริ่มธุรกิจที่จอดรถ เพราะปาร์คทูโกสามารถเป็นคู่คิดในการวิเคราะห์ภาพรวมการลงทุน การส่งเสริมการตลาด จัดหาแหล่งสนับสนุนทางการเงิน ดูแลด้านกฎหมายและประกันภัย ตลอดจนติดตั้งเครื่องจอดรถอัตโนมัติและเทคโนโลยีการจัดการที่จอดรถแบบเรียลไทมส์ เพื่อช่วยพัฒนาพื้นที่เปล่าหรือที่จอดรถแบบเดิมๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างรายได้สูงสุด
“วันนี้เราเดินทางมาแค่ 10% ผมเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังเติบโตไปได้อีกไกล อย่างที่บอกปัญหาหลักของที่จอดรถเมืองไทยคือ ที่จอดไม่พอกับหาที่จอดไม่ได้ ซึ่งการเข้าไปแก้ปัญหานั้นมีทั้งสิ่งที่ Need to have (จำเป็นต้องทำ) และ Nice to have (น่าจะทำ) เราต้องเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นก่อน ค่อยๆปรับ ซึ่งผมเชื่อว่าโมเดลนี้จะยังต่อยอดนำไปปรับใช้ในหลายประเทศ เพราะปัญหาที่จอดรถเป็นปัญหาสามัญที่หลายประเทศกำลังเผชิญ”
เสียเงินไม่ว่า อย่าเสียเวลา
อภิรามยังทิ้งท้ายถึงมือใหม่ที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจว่า แพชชั่นในการทำธุรกิจคือ สิ่งสำคัญ อย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะล้มเหลวจะเกิดขึ้นเมื่อคิดจะล้มเลิก สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจไปพร้อมกับการทำงานประจำไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาของการจับปลาสองมือนานเกินไป เพราะสุดท้ายจะพลาดทั้งสองมือ ขึ้นชื่อว่าธุรกิจถ้าไม่ทุ่มลงไปสุดตัว ไม่มีวันสำเร็จ อย่างน้อยถ้าดูแล้วว่า ธุรกิจที่ทำไปต่อได้ ก็ต้องทุ่มเทให้เต็มที่ เพราะสุดท้ายสิ่งที่น่าเสียใจที่สุด ไม่ใช่เงินที่เสียไปกับความล้มเหลว แต่เป็นเวลาที่เสียไป ซึ่งไม่มีวันได้กลับคืน
“ผมเชื่อว่าธุรกิจที่มีคนทำเยอะ เริ่มง่าย แต่แข่งขันยาก แต่ธุรกิจที่ไม่มีใครทำ ถึงจะเริ่มยากกว่า แต่อาจจะแข่งขันง่ายกว่าก็ได้ ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ บางคนอาจจะเก่งในธุรกิจ Red ocean ก็ได้ อย่างคุณพ่อผมท่านอยู่ในธุรกิจรถยนต์ที่แดงฉาน แต่ท่านก็อยู่ในธุรกิจนี้ได้อย่างสบาย ผมคิดว่าแต่ละคนต้องหาจุดเด่นของตัวเอง ว่าเก่งอะไร แล้วทำในสิ่งนั้น” อภิรามทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก Prop A Lot
https://prop-a-lot.com/park2go-2/